‘พิชัย’ร่วมถก ‘รัฐมนตรีเอเปค’ ที่เปรู เร่งสปีดการค้า-การลงทุน หารือผู้นำ 7 ชาติสมาชิก

2024-11-18 HaiPress

"พิชัย" ร่วมถก "รัฐมนตรีเอเปค" ที่เปรู เร่งสปีดการค้า-การลงทุน พร้อมลุยเจรจาการค้ากับผู้นำ 7 สมาชิก ระดมนักลงทุนสู่ไทย ดึงเงินเข้าประเทศ

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา ศูนย์ประชุมลิม่าคอนเวชั่นเซ็นเตอร์ เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่นเปรู) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2567 หรือ APEC Ministerial Meeting (AMM) 2024 ณ ศูนย์การประชุม Lima ห้อง Naciones 2 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

นายพิชัย เปิดเผยว่า “สาธารณรัฐเปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 35 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกเอเปค ภายใต้หัวข้อหลัก “เสริมสร้าง. ครอบคลุม. เติบโต.” ที่เน้นหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจนอกระบบมาสู่เศรษฐกิจที่เป็นทางการ โดยในที่ประชุมไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อดังกล่าว“

นายพิชัย ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ ในวาระที่ 3 “การค้าและการลงทุนเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน” โดยสรุปว่า “WTO สามารถมีบทบาทร่วมกับองค์การระหว่างประเทศในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี เพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน ผ่านการออกมาตรการทางการค้าที่เหมาะสมโดยไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น และยังได้กล่าวสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาวาระงานเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก(Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTA)

โดยสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปคใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาต่าง ๆ ของเอเปคเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงระดับขีดความสามารถที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งตนได้นำเสนอนโยบายของไทยที่พัฒนาการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกัน เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากที่ครอบคลุม และยั่งยืน”

นายพิชัย เสริมว่า “ในการประชุมดังกล่าว ผมได้มีโอกาสพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้าจากสมาชิกเอเปคต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เปรู ชิลี ญี่ปุ่น แคนาดา และจีนฮ่องกง โดยในภาพรวมได้หารือแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ไทยและเขตเศรษฐกิจได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น การร่วมกันส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกผ่านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้าน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การผลักดันและการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พบหารือทวิภาคีกับนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Mrs. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู และเข้าร่วมฟัง นายกรัฐมนตรีไทยปาฐกถาในการประชุมผู้นำภาคธุรกิจเอเปค (APEC CEO Summit) : การเสวนาในช่วงที่ 20 ภายใต้หัวข้อ Aging,Pandemics and the Path to Innovation ณ โรงละคร Grand National Theatre กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2567

รมว.พาณิชย์ ยังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับผู้นำแขกรับเชิญพิเศษ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในเอเปคเข้าร่วมประชุม โดยมีผู้นำประเทศที่สำคัญเข้าร่วม อาทิ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ นายกรัฐมนตรีบรูไน อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นต้น และต่อมา รมว.พาณิชย์ ยังได้มีการพบหารือกับเอกชนในเปรู อาทิ บริษัท Google และ Walmart บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ อีกด้วย

เอเปคประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกว่าร้อยละ 38 ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่าร้อยละ 61 และมีมูลค่าการค้าสินค้าและบริการรวมกว่าร้อยละ 47 ของโลก นอกจากนี้ สำหรับไทยกับเอเปคมีมูลค่าการค้ากว่า 14.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.33 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ไทยฟอร์จูนรายสัปดาห์    ติดต่อเรา SiteMap