ซื้อแล้วติดดอย! เปิดระดับราคาบ้าน-คอนโดฯ ขายไม่ออก ค้างสต๊อกสูงสุด กทม.-ปริมณฑล

2024-11-20 HaiPress

ซื้อแล้วติดดอย เปิดระดับราคาบ้าน-คอนโดฯ ขายไม่ออกค้างสต๊อกเยอะสุดใน กทม.-ปริมณฑล หลังยอดค้างสต๊อกเฉียด 1.4 ล้านล้าน หลังยอดโอนลด 4.4% สินเชื่อติดลบ 11% พร้อมเผย 4 กลุ่มเสี่ยง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้คาดการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศทั้งปี 67 มีจำนวน 350,545 หน่วย ลดลง  4.4% มูลค่าการโอนอยู่ที่  1.01 ล้านล้านบาท ลดลง 3.3% แบ่งเป็นบ้านจัดสรร  243,088 หน่วย ลดลง 6% มูลค่า 717,052 ล้านบาท ลดลง 3.4% และคอนโดมิเนียม 107,456 หน่วย ลดลง 0.6% มีมูลค่า 295,707 ล้านบาท ลดลง 2.9%

ทั้งนี้ ส่งผลให้โครงการที่อยู่ระหว่างการขาย ไม่รวมบ้านมือสองมีจำนวนสูงขึ้น โดยเฉพาะ ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ ไตรมาส 3 ปี 67 มีสต๊อกเหลือ 229,182 หน่วย เพิ่มขึ้น 7% มูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1%  

สำหรับประเภทและระดับราคาที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จเหลือขาย (Inventory) ที่ควรระมัดระวังในการพัฒนา REIC มีข้อสังเกตประเภทที่อยู่อาศัย และระดับราคาที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จเหลือขาย หรือที่เรียกว่า Inventory ที่ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยควรระมัดระวังในการเพิ่มอุปทานกลุ่มเหล่านี้เข้าไปในตลาดจนทำให้ความเร็วในการขายลดลง ได้แก่

อาคารชุด ควรระมัดระวัง ในกลุ่มราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 9,265 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของอาคารชุดที่สร้างเสร็จเหลือขายทั้งหมด 26,794 หน่วย และกลุ่มระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 4,277 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16ทาวน์เฮาส์ ควรระมัดระวังในกลุ่มราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 7,942 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.0 ของทาวน์เฮาส์ที่สร้างเสร็จเหลือขายทั้งหมด 16,561 หน่วย และกลุ่มระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 5,338 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.2บ้านเดี่ยว ควรระมัดระวังในกลุ่มราคา 5.01-7.50 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 2,559 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.7 ของบ้านเดี่ยวที่สร้างเสร็จเหลือขายทั้งหมด 7,815 หน่วย และระดับราคา 10.01-20 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 1,620 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7บ้านแฝด ควรระมัดระวังในกลุ่มราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 2,418 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 50.8 ของบ้านแฝดที่สร้างเสร็จเหลือขายทั้งหมด 4,760 หน่วย และกลุ่มระดับราคา 5.01-7.50 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 1,472 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.9

“ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 2-3 ปี 67 ปรับตัวดีขึ้น โดยติดลบน้อยกว่าไตรมาส 1 ปี 67 หลังจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ให้กับที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ขยายตัว”

ส่วนสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ไตรมาส 3 ปี 67 เป็นไปในทิศทางเดียวกับการโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัย โดยมีมูลค่า 154,168 ล้านบาท ลดลง 17.9% จากปีก่อน และลดลงติดต่อกัน 4 ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 66 จึงคาดว่าทั้งปี 67 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ จะมีมูลค่า 600,812 ล้านบาท ลดลง 11.4% และคาดการณ์ปี 68 จะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ 614,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3%

ส่วนแนวโน้มปี 68 คาดจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ 363,600 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.7% มูลค่า 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ประกอบด้วย บ้านจัดสรร 254,520 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 739,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% และคอนโดฯ 109,080 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.5% มูลค่า 303,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7%

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ไทยฟอร์จูนรายสัปดาห์    ติดต่อเรา SiteMap